ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด รีเช็กองค์ประกอบในเลือดของเรา เพียงพอหรือไม่?


ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด

เลือดที่มีคุณภาพและมีทุกเซลล์ส่วนประกอบที่สมบูรณ์ย่อมช่วยให้ร่างกายแข็งแรงได้อย่างยาวนาน

ดังนั้นในแทบทุกรายการตรวจสุขภาพจึงต้องมีการ “ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด” ประกอบอยู่ด้วย เพื่อเป็นการตรวจเช็กส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้เม็ดเลือดของเราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถหล่อเลี้ยงและซ่อมแซมยามร่างกายเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บได้อย่างดีที่สุด


เลือกหัวข้อที่สนใจได้ที่นี่

ขยาย

ปิด

ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดคืออะไร?

ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) คือ กระบวนการตรวจองค์ประกอบและปริมาณเซลล์ของเม็ดเลือดในร่างกายมนุษย์ อันได้แก่

  1. ปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว (White Blood Cells: WBC) ซึ่งทำหน้าที่ขจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ เสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ทำให้เราไม่เจ็บป่วยง่าาย และร่างกายมีการฟื้นฟูสมานแผลเมื่อได้รับบาดเจ็บ
  2. ปริมาณเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิด (Differential White Blood Cell Count) ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีหน้าที่กำจัดแบคทีเรีย เชื้อโรค หรือสารพิษที่เข้าร่างกายต่างกันไป เช่น
    1. นิวโทรฟิล (Neutrophils) ทำหน้าที่ทำลายเชื้อแบคทีเรีย
    2. โมโนไซต์ (Monocyte) ทำหน้าที่ทำลายเชื้อแบคทีเรียที่มีขนาดใหญ่จนเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดอื่นทำลายไม่ได้ และช่วยเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย
    3. ลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) ทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส รวมถึงเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย
    4. อีโอซิโนฟิล (Eosinophilis) ทำหน้าที่คงสภาพเลือดให้เป็นของเหลว รวมถึงคอยทำลายเซลล์สิ่งแปลกปลอมหรือสารพิษที่อาจสร้างอาการแพ้หรือระคายเคือง เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้
    5. เบโซฟิล (Besophils) ทำหน้าที่ขยายผนังหลอดเลือด และสร้างเซลล์ป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัว
  3. ปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดง (Red Blood Cells: RBC) ทำหน้าที่นำส่งออกซิเจน ควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย กระตุ้นการทำงานของระบบขับของเสีย
  4. ปริมาณเม็ดเลือดแดงอัดแน่น (Hematocrit: Hct) สามารถบ่งบอกถึงภาวะหรือโรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือดบางชนิดได้
  5. ปริมาณฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ซึ่งเป็นสารสำคัญในเม็ดเลือดแดงที่ทำหน้าที่นำส่งออกซิเจนจากปอดไปยังเซลล์ทุกส่วนของร่างกาย และยังมีผลต่อปริมาณกับคุณภาพของเซลล์เม็ดเลือดแดงด้วย
  6. ปริมาณเกล็ดเลือด (Platelet Estimation) เป็นเซลล์ที่มีขนาดเล็กกว่าเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่คอยสมานแผล อุดรอยรั่ว หรือรอยฉีกขาดของเซลล์หลอดเลือดเวลาที่เรามีบาดแผลตามร่างกาย และทำให้เลือดหยุดไหลนั่นเอง
เช็กราคาตรวจสุขภาพ

ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดช่วยอะไร?

การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคและสัญญาณผิดปกติของร่างกาย เช่น

  • โรคหัวใจ
  • โรคไต
  • โรคตับ
  • โรคมะเร็งเม็ดเลือด
  • โรคโลหิตจาง
  • โรคเกี่ยวกับไขกระดูก
  • ภาวะขาดเลือด
  • ภาวะม้ามโต
  • ภาวะขาดสารอาหาร แร่ธาตุ และและวิตามินที่จำเป็น
  • ภาวะขาดน้ำ
  • ภาวะโลหิตจาง
  • ภาวะติดเชื้อไวรัสบางชนิด
  • ภาวะความเครียด
  • ร่างกายปนเปื้อนสารพิษ

การเตรียมตัวก่อนตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ต้องงดอาหารไหม?

หากเป็นการเจาะเลือดตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดเพียงอย่างเดียว ผู้เข้ารับบริการสามารถกินอาหาร ดื่มน้ำ ใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่ต้องงดน้ำและไม่ต้องงดอาหารแต่อย่างใด

แต่ในกรณีที่เจาะเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจสุขภาพในส่วนอื่นๆ ด้วย ทางสถานพยาบาลอาจแจ้งให้งดน้ำและงดอาหารก่อนประมาณ 8-12 ชั่วโมง

ขั้นตอนการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด

การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดจะเป็นการเจาะเก็บตัวอย่างเลือดประมาณ 2.5-3 มิลลิลิตรเท่านั้น หลังจากนั้นผู้เข้ารับบริการจึงค่อยเข้าฟังผลตรวจกับแพทย์อีกครั้ง

ส่วนมากระยะเวลารอผลจะภายใน 1 วัน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแนวทางการให้บริการของแต่ละสถานพยาบาล และจำนวนรายการตรวจสุขภาพซึ่งอาจต้องใช้เวลาแปลผลตรวจนานกว่านั้น

การดูแลตัวเองหลังตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด

ในส่วนของการดูแลตนเองหลังเจาะเก็บตัวอย่างเลือด ผู้เข้ารับบริการสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติทันที ไม่จำเป็นต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษ

ส่วนการดูแลตนเองหลังฟังผลตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดจะขึ้นอยู่กับผลตรวจที่แพทย์จะเป็นผู้แจ้ง หากตรวจพบความเสี่ยงหรือความผิดปกติใดๆ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้เข้ารับบริการเข้ารับการตรวจอื่นๆ ที่ละเอียดขึ้นเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลความเสี่ยง หรือแนะนำให้กลับไปดูแลสุขภาพเพิ่มเติม

ผลลัพธ์ของการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด

1. ผลตรวจปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว

โดยปกติมนุษย์ควรมีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวอยู่ที่ 4,000-10,500 เซลล์ต่อไมโครลิตร แต่หากเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงหรือต่ำเกินไป ก็อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติบางอย่างได้

หากตรวจพบระดับเม็ดเลือดขาวสูง

  • ร่างกายมีการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อโรคบางชนิด
  • ร่างกายมีอาการแพ้สิ่งแปลกปลอมบางชยิด หรืออาการภูมิแพ้ หอบหืดกำเริบ
  • ไขกระดูกเกิดความผิดปกติ
  • มีภาวะความเครียดจัด
  • เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุไฟไหม้ ก็มักจะตรวจพบระดับเม็ดเลือดขาวสูงด้วย
  • พฤติกรรมสูบบุหรี่จัด
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)

หากตรวจพบเม็ดเลือดขาวต่ำ

  • ร่างกายมีระดับภูมิคุ้มกันต่ำ เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อโรคบางชนิด
  • ร่างกายปนเปื้อนสารพิษมากเกินไป
  • เป็นโรคเกี่ยวกับตับ ม้าม หรือไขกระดูก
  • เป็นโรคแพ้ภูมิตนเอง
  • เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • การติดเชื้อไวรัส HIV
  • ภาวะขาดสารอาหาร แร่ธาตุ หรือวิตามิน
  • สามารถเป็นผลกระทบจากการฉายแสงหรือทำเคมีบำบัดรักษามะเร็งได้
  • พฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • การใช้ยาบางชนิด

2. ผลตรวจปริมาณเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิด

ปริมาณของเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดที่ควรมีในร่างกายต่ออัตราส่วนปริมาณเม็ดเลือดขาวทั้งหมด ได้แก่

  • นิวโทรฟิล (Neutrophils) ควรมีประมาณ 50-70%
  • โมโนไซต์ (Monocyte) ควรมีประมาณ 0-7%
  • ลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) ควรมีประมาณ 20-40%
  • อีโอซิโนฟิล (Eosinophilis) ควรมีประมาณ 0-5%
  • เบโซฟิล (Besophils) ควรมีประมาณ 0-1%

หากตรวจพบชนิดของเม็ดเลือดขาวมีปริมาณสูงเกินไป นั่นถือเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อปรสิต พยาธิ หรือเชื้อโรคบางชนิด รวมถึงภาวะเลือดข้น ภาวะเกล็ดเลือดสูง

แต่หากพบชนิดของเม็ดเลือดขาวในปริมาณต่ำเกินไป ก็จัดว่าร่างกายผู้เข้ารับบริการมีภูมิคุ้มกันต่ำเกินไป และเสี่ยงจะเจ็บป่วยจากการติดเชื้อต่างๆ ได้ รวมถึงมีความเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจาง ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

เช็กราคาตรวจสุขภาพ

3. ผลตรวจปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดง

โดยปกติมนุษย์ควรมีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดงอยู่ที่ 3.9-5.0 ล้านเซลล์ต่อไมโครลิตรสำหรับผู้หญิง และ 4.3-5.7 ล้านเซลล์ต่อไมโครลิตรสำหรับผู้ชาย

แต่หากเซลล์เม็ดเลือดขาวสูงหรือต่ำเกินไป ก็อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติบางอย่างได้ เช่น

หากตรวจพบระดับเม็ดเลือดแดงสูง

  • ร่างกายมีปริมาณออกซิเจนต่ำเกินไป
  • เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด
  • เป็นโรคหัวใจวายจากโรคปอด หรือมีเนื้อเยื่อพังผืดในปอด
  • เป็นภาวะเลือดข้น
  • พฤติกรรมสูบบุหรี่จัด
  • สามารถเป็นผลกระทบจากการฉายแสงรักษามะเร็งได้ จนไขกระดูกไม่ทำงาน หรือมีเนื้องอกในไขกระดูก

หากตรวจพบเม็ดเลือดแดงต่ำ

  • ร่างกายอยู่ในภาวะเสียเลือด อาจมาจากอาการบาดเจ็บ มีเลือดออกจากอวัยวะภายใน หรือการมีประจำเดือน
  • การตั้งครรภ์
  • การติดเชื้อไวรัส HIV
  • เป็นโรคไตเรื้อรัง
  • เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือด
  • ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกง่าย
  • ภาวะขาดสารอาหาร แร่ธาตุ หรือวิตามิน เช่น วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก

4. ผลตรวจปริมาณเม็ดเลือดแดงอัดแน่น

สำหรับผู้หญิงควรมีปริมาณเม็ดเลือดแดงอัดแน่นอยู่ที่ 36-45% ส่วนผู้ชายควรมีปริมาณเม็ดเลือดขาวอัดแน่นอยู่ที่ 38-50% หากตรวจพบปริมาณเม็ดเลือดแดงอัดแน่นสูงหรือต่ำเกินไป ถือเป็นสัญญาณความเสี่ยงดังต่อไปนี้

หากตรวจพบปริมาณเม็ดเลือดแดงอัดแน่นสูงเกินไป

  • ภาวะขาดน้ำ
  • ภาวะเลือดข้น
  • ร่างกายมีออกซิเจนในเลือดต่ำ
  • พฤติกรรมสูบบุหรี่จัด
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

หากตรวจพบปริมาณเม็ดเลือดแดงอัดแน่นต่ำเกินไป

  • โรคโลหิตจาง
  • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • โรคข้ออักเสบรูมารอยด์
  • ภาวะเสียเลือด
  • ภาวะโลหิตจาง

5. ผลตรวจปริมาณฮีโมโกลบิน

ผู้หญิงควรมีปริมาณฮีโมโกลบินอยู่ที่ 12-15 กรัมต่อเดซิลิตร ส่วนผู้ชายควรมีปริมาณเม็ดเลือดขาวอัดแน่นอยู่ที่ 13-17 กรัมต่อเดซิลิตร แต่หากตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแล้วพบฮีโมโกลบินสูงหรือต่ำเกินไป นั่นอาจเป็นสัญญาณความเสี่ยงของสุขภาพบางประการได้

หากตรวจพบปริมาณฮีโมโกลบินสูงเกินไป

  • ร่างกายมีออกซิเจนในเลือดต่ำ
  • ภาวะเลือดข้น
  • ภาวะขาดน้ำ
  • โรคหัวใจแต่กำเนิด
  • โรคหัวใจวายจากโรคปอด
  • พฤติกรรมสูบบุหรี่จัด
  • การอาศัยอยู่ในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากๆ

หากตรวจพบปริมาณฮีโมโกลบินต่ำเกินไป

  • โรคหัวใจวาย
  • โรคธาลัสซีเมีย
  • ภาวะเสียเลือด
  • ภาวะขาดสารอาหาร แร่ธาตุ หรือวิตามิน เช่น วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก
  • การรับน้ำเกลือมากเกินไป
เช็กราคาตรวจสุขภาพ

6. ผลตรวจปริมาณเกล็ดเลือด

มนุษย์ทุกคนควรมีเกล็ดเลือด 150,000-440,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร แต่หากตรวจพบปริมาณเกล็ดเลือดสูงหรือต่ำกว่านี้ ก็จัดเป็นสัญญาณความผิดปกติบางอย่างได้ เช่น

หากตรวจพบเกล็ดเลือดสูงเกินไป

  • การติดเชื้อเรื้อรัง
  • ภาวะอักเสบ
  • ภาวะเลือดข้น
  • เม็ดเลือดแดงแตกเฉียบพลัน
  • หลอดเลือดถูกทำลาย
  • ร่างกายขาดธาตุเหล็ก

หากตรวจพบเกล็ดเลือดต่ำเกินไป

  • การตั้งครรภ์
  • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • ความผิดปกติที่ไขกระดูก
  • ภาวะม้ามโต
  • โรคแพ้ภูมิตนเอง
  • การใช้ยาบางชนิด
  • การสัมผัสสารเคมีบางชนิด เช่น ยาฆ่าแมลง
  • การรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีบำบัด
  • เลือดไม่หยุดไหลหากร่างกายได้รับบาดเจ็บ

การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดนั้นมีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนใดๆ แต่สามารถบ่งชี้ถึงความแข็งแรงของสุขภาพได้มากมายหลายด้าน หากคุณมีโอกาสเดินทางไปตรวจสุขภาพ อย่าลืมที่จะจัดการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดเข้าไปอยู่ในรายการตรวจด้วย

เช็กราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพประจำปี พร้อมฟังผลกับแพทย์ที่สถานพยาบาลชั้นนำ ด้วยแพ็กเกจตรวจสุขภาพจากเว็บไซต์ HDmall.co.th หรือสอบถามแพ็กเกจตรวจสุขภาพที่คุณสนใจ ผ่านทางไลน์ @hdcoth


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Thonburi Lab Center, ตรวจสุขภาพ ด้วย CBC (ความสมบูรณ์เม็ดเลือด), (http://www.tlclab.net/cbc/), 16 ธันวาคม 2565.
  • WebMD, Complete Blood Count (CBC) Test (https://www.webmd.com/a-to-z-guides/complete-blood-count#091e9c5e8158eee9-1-2), 16 December 2022.
  • แพทย์หญิง ลลิตา นรเศรษฐ์ธาดา, การแปลผลความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดด้วยตนเอง (http://tsh.or.th/Knowledge/Details/34), 16 ธันวาคม 2565.
  • อาจารย์ ดร. วันวิสาข์ อุดมสินประเสริฐ, ผลแลปจากการตรวจเลือด....มีความหมายว่าอย่างไร (https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/442/ผลแลปจากการตรวจเลือด/), 16 ธันวาคม 2565.
@‌hdcoth line chat