หมอเตือน ! ระวังติดแอปฯคลิปสั้น จน ‘ประสาทหลอน’

8 พฤศจิกายน 2566 - 09:17

Short-clip-application-addiction-may-cause-paranoid-schizophrenia-SPACEBAR-Hero.jpg
  • หญิงติดแอปคลิปสั้น จนเกิดภาพหลอน บางคนหวาดระแวงว่าจะมีคนมาทำร้าย

  • ผู้เชี่ยวชาญเตือน ควรใช้แอปคลิปสั้นอย่างระวัง โดยเฉพาะคนที่จิตอ่อนไหวหรือเป็นโรคจิตแฝง อาจเป็นโรคจิตแบบหวาดระแวงได้

หลายคนน่าจะเคยเป็นแบบนี้ เพลงหรือภาพในติ๊กตอกหรือรีล หลอนอยู่ในหัวทั้งวันทั้งคืน ยากจะเอาออกไปจากความคิด หลังไถติ๊กตอก หรือรีล ก็เจอแต่เพลงเดิมหรือทำนองคล้ายๆกันซ้ำๆวนอยู่อย่างนั้น แต่ก็อดไม่ได้ที่จะไถดูอีก ยิ่งดูยิ่งสนุก รู้สึกมีความสุข แต่นั่นอาจเป็นแค่ความสุขชั่วคราว และกลายเป็นยาพิษสำหรับคนที่จิตใจอ่อนแอ จนถึงขั้นเกิดอาการหลอน หลงผิด ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคจิตเภท 

ตั้งแต่ติ๊กตอกกลายเป็นโซเชียลมีเดียยอดฮิต ผู้ใช้ก็ถูกเตือนมาโดยตลอดถึงปัญหาการใช้มากเกินไป และจะนำไปสู่ปัญหาทางจิตมากมาย เช่น การเบี่ยงเบนความสนใจ (distraction) การบริหารเวลาไม่ดี และเวลาเรียนรู้ลดลง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นตัวชี้วัดว่าเป็นการเสพติดที่ต่างรู้กันดี คำว่า ‘การเสพติด’ ในยุคนี้ถูกนำมาเรียกกับพฤติกรรมมากมาย เช่น ติดการพนัน ติดวิดีโอเกม และติดใช้อินเทอร์เน็ต 

ทำไมหยุดไถแอปฯคลิปสั้นไม่ได้สักที

งานวิจัยที่เผยแพร่เกี่ยวกับกรณีผู้ที่ติดแอปวิดีโอ ในวารสาร International Journal of Recent Scientific Research ระบุว่า ด้วยลูกเล่นที่หลากหลายของติ๊กตอกทั้งฟิลเตอร์เอ็ฟเฟกต์ สติ๊กเกอร์สนุกๆ และเครื่องมือตัดต่อ ทำให้ดึงดูดผู้ใช้มากขึ้น ที่สำคัญติ๊กตอกจะส่งคอนเทนต์ที่ตรงกับความชอบของผู้ใช้โดยวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ ซึ่งคอนเทนต์ที่ทำให้สนุกหรือตลก และถูกใจผู้ใช้ เป็นความบันเทิงที่ทำให้เสพติดนั่นเอง 

การเสพติดโซเชียลมีเดียมักจะเกิดขึ้นหลังจากใช้มาเป็นเวลานาน สันนิษฐานได้ว่าความรู้สึกสนุกหรือเป็นเจ้าของชุมชนในโซเชียลมีเดียนั้น อาจเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดกระบวนการทางจิตที่ทำให้รู้สึกดียิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งนี่แหละที่ผลักดันให้เกิดการเสพติด หรืออีกแง่หนึ่ง การติดจออยู่กับโซเชียลมีเดียก็เพื่อเติมเต็มช่องว่างทางความรู้สึกในชีวิตที่หลุดออกจากความสัมพันธ์กับคนอื่น อาจเป็นผลที่ทำให้เกิดการเสพติดเช่นกัน 

การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเวลานานพบว่ามีความเชื่อมโยงกับเนื้อสมองสีเทาลดลง ซึ่งใช้ในการรับสัมผัสต่างๆ เช่น การมองเห็น การได้ยิน การรับรู้อารมณ์ การควบคุมตนเอง รวมทั้งการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ มีรายงานว่าหลายคนมีอาการทางจิตขณะเลิกการเสพติดอินเทอร์เน็ต 

ไม่เพียงแค่ผู้ที่ติดสารเสพติดบางคนมีอาการทางจิตช่วงที่เสพ หรือช่วงเลิก แต่ผู้ที่มีพฤติกรรมเสพติด ซึ่งรวมถึงการเสพติดอินเทอร์เน็ต อาจทำให้บางคนที่จิตอ่อนไหวมีอาการทางจิตจากการเลิกได้เหมือนกัน 

เกิดภาพหลอนว่าคนจะมาทำร้าย หลังติดแอปฯ

ในปี 2020 มีกรณีของหญิง (คาดว่าอยู่ในสหรัฐฯ) คนหนึ่งซึ่งแต่งงานแล้ว มีอาการปวดหัว หวาดระแวง กลัว พูดถึงคนจากติ๊กตอกพยายามมาทำร้ายร่างกายเธอและครอบครัว และนอนหลับได้น้อยลง เป็นเวลาประมาณหนึ่งเดือน หลังจากย้อนไปสองเดือนก่อนเธอเริ่มเล่นติ๊กตอกวันละมากกว่าแปดชั่วโมง เธอรู้สึกว่ากำลังถูกมอง และผู้คนเหล่านั้นอยู่ในบัญชีติ๊กตอกอัพโหลดวิดีโอเพื่อข่มขู่เธอ เธอยังรู้สึกว่าความคิดของเธอเป็นที่รับรู้ในช่องทางอื่นๆ และแสดงออกมาในหลายรายการและโฆษณาทางโทรทัศน์ที่เธอดู นอกจากนี้เธอยังบอกว่าได้รับโทรศัพท์จากคนที่ข่มขู่ว่าจะทำร้ายเธอ และจะลักพาตัวสามีเธอ แต่สมาชิกในครอบครัวของเธอก็ไม่เชื่อว่าเธอจะได้รับโทรศัพท์เหล่านั้น เธออาศัยอยู่ใกล้สนามบินและบอกว่ามีสองครั้งที่เธอเห็นเฮลิคอปเตอร์กำลังมองมาที่บ้านของเธอเป็นเวลานับชั่วโมง เธอล็อคประตูและหน้าต่าง ปิดผ้าม่านตลอดทั้งวัน และไม่ค่อยทิ้งบ้านไว้ตลอดสองเดือน อีกทั้งยังบอกครอบครัวว่าอย่าเปิดประตูให้ใคร เธออยากอาหารน้อยลง และนอนน้อยกว่าสามชั่วโมงต่อคืน  

เธอเปิดเผยว่าเธอได้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันคลิปวีดิโอสั้น ติ๊กตอก ประมาณหกเดือนที่แล้วและตั้งแต่ตอนนั้นเธอก็ใช้เวลาไล่ดูวิดีโอและคอมเมนต์ในคลิปเหล่านั้น เธอบอกว่าเธอมักจะไม่ค่อยกินอาหาร นอน และทำงานบ้าน เพื่อนที่จะไถดูวิดีโอในแอป เธอสร้างบัญชีของตัวเองด้วยชื่อปลอม เพื่อปกป้องตัวตน เธอบอกว่าเธอมักติดกับการคอมเมนต์ล้อเล่น กับผู้ใช้ติ๊กตอกที่เธอรู้สึกสนิทด้วย  

ประมาณสองเดือนหลังจากนั้น เธอพยายามที่จะลดความถี่และระยะเวลาในการใช้แอป แต่เธอบอกว่าผู้ใช้ติ๊กตอกที่เธอพูดถึงได้หยุดโพสต์วิดีโอและตอบคอมเมนต์ของเธอ เธอรู้สึกว่ามีบางอย่างผิดปกติ และเธอบอกว่าเห็นวิดีโอจากผู้ใช้หลายคนที่เธอรู้สึกว่าต้องการแฝงข้อความส่งถึงเธอให้อยู่ห่างจากติ๊กตอก และบอกเธอว่าพวกเขารู้ว่าเธอเป็นใครและบ้านอยู่ที่ไหน ซึ่งวิดีโอที่เธออ้างถึงก็เป็นเพียงวิดีโอที่มีลักษณะเป็นเพลงที่ไม่มีพิษมีภัย คลิปเต้นและตลกขบขัน 

คอนเทนต์หลอนและทำให้เข้าใจผิด อาจเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดความสับสนสำหรับคนที่ไม่ใช้เทคโนโลยีมาก่อน ทั้งความรู้สึกผิดที่ละเลยความรับผิดชอบ เกิดภาพหลอนว่ามีคนมาข่มขู่ครอบครัวของเธอ และเชื่อว่าถูกจับตามอง 

กรณีนี้วินิจฉัยได้หลายอย่างทั้ง ‘โรคจิตเภทแบบหวาดระแวง’ และ ‘โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว’ ซึ่งข้อมูลจากครอบครัวของเธอ และการทดสอบทางจิตวิทยาและห้องทอดลอง พบว่าความผิดปกติทางจิตไม่มีการใช้สารเสพติดหรือโรคประจำตัวทั่วไป 

หมอเตือนระวังเป็นโรคจิตเภท

ส่วนกรณีในประเทศไทย ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบประสาทและสมอง ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก ‘สาระสมองกับ อจ.สุรัตน์’ ระบุว่า 

“เจอ case เล่น Tiktok และ Reel กระตุ้น โรคจิตแฝง 

เร็ว ๆ นี้เจอคนไข้ผู้หญิง ราชการ อายุ ราว 40 ปี เล่น Tiktok ติดงอมแงม ต่อมาเห็นภาพหลอน  

คือ ปกติคนไข้หูแว่วประสาทหลอนนี่เป็น คนไข้จิตเวช แต่นี่ รับปรึกษาอายุรกรรมสมอง เพราะเป็นเร็ว เป็นแปลก ๆ คนนี้ เล่น Tiktok Reel มา 4 เดือน post ทุกวัน ดู video วน ๆ ไปมา กดทั้ง Like ทั้ง Share  

มันสนุก รู้ใจ หัวเราะไป หลุดโลกความจริง เค้าว่างั้น จนผลิตคอนเท้นเอง วิ่งตาม Like Share  

คือมีคน กด Like Share Comment มีความสุข โดปามีนหลั่ง  

คนไข้คนนี้ 5 วันมานี่ มีคนกระซิบให้ทำ video อย่างนั้น อย่างนี้ บอกเทคนิค เริ่มหลอนเห็นคนคุยด้วยไปนั่น เค้ามาแล้ว มากระซิบด้วย เห็นไหม มีผู้ชาย ใส่ชุดดำมาตาม จนญาติเอามาส่ง รพ.  

เรื่องแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเจอ เพราะเดือนก่อนก็เจอ ป้าคนนึง นั่งเล่น Tiktok วนไป โลกหลุดไปอยู่ใน Tiktok วนหาทางออกไม่เจอ พอมาในชีวิตจริง ก็มีชีวิตหลอน Tiktok หลุดออกมาอยู่ด้วย มีคนบอกให้ทำนั่นนี่  

ส่วนตัวคิดว่า เหตุที่ทำให้หลอน ๆ จาก video platform แบบ Tiktok Reel แบบนี้ เป็นได้หลายประการ 

1. การเล่นจนติดนานๆ กระตุ้น Dopamine สูงขึ้น นั่นก็เป็นสาเหตุของจิตหลอน 

2. ส่วนใหญ่คนปกติทั่วไป ไม่น่าจะเป็นไร แต่ใครเป็น trait คือโรคจิตแฝงที่รอการกระตุ้น ก็อาจแสดงอาการได้ง่ายขึ้น  

3. Video ที่มีลักษณะหลอน ๆ มีเยอะ ทั้งที่แบบสาวจีนร้องเต้น ภาษาอะไรก็ไม่รู้ ต๊อก ๆ วนไป วนมา นี่ก็หลอน คนทำเสียงดัง ๆ กรี้ด ๆ ก็มี นี่ก็หลอน ที่ทำแบบ Live แล้วเจอกับคนที่ทำท่าแปลกๆ พูดจาเหมือนหุ่นยนต์ แถมทำแบบนี้วนซ้ำ ๆ ที่เรียกว่า NPC Live หรือการแสดงเป็นบอท (bot) อันนี้อาจารย์ว่า คนโรคจิต อาจดูหลอน ๆ ก็ได้นะ  

4. อัลกอริทึม ที่มันจะฟีดแต่เรื่อง ๆ ที่เราดู ก็จะทำให้คนที่ชอบดูอะไรแปลก ๆ หลอน ๆ ได้รับ ฟีดอยู่นั่นแหละนะ ไม่หลุดไปสักที อยู่ในโลกที่หลุดจากความจริง  

5. ในทางกลับกัน คนที่เป็นโรคจิตเวช บางทีก็ไม่กล้าหรือไม่อยากออกไปสังคม ก็ใช้ Tiktok Reel หรือ social media อื่น ๆ นี่แหละเป็นช่องทาง...” 

อันตรายของการติดโซเชียลมีเดียต่อสุขภาพจิต ถูกเตือนมาโดยตลอด เพราะบางคนอาจเปรียบเทียบตัวเองกับคนในโซเชียลมีเดีย แล้วทำให้เกิดผลเสียตามมา เช่น ความมั่นใจในตัวเองลดลง เกิดอารมณ์หดหู่ และความพึงพอใจในชีวิตลดลง บางคนอาจพยายามจัดการกับความมั่นใจในตัวเองที่ลดลง ด้วยการโจมตีความรู้สึกของคนอื่นที่เขามีต่อตัวเขาเอง ซึ่งก็นำไปสู่การกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต หรือ Cyber-bullying 

นอกจากนี้อันตรายของโซเชียลมีเดีย ยังทำให้เกิดความรู้สึกเหงา ความสัมพันธ์ในโลกความจริงลดลง การทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เทรนด์ทำตามๆกันที่ไม่ปลอดภัย เกิดอารมณ์สองขั้วหรืออารมณ์รุนแรง และการได้รับข้อมูลผิด 

มีรายงานว่าวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยเกิดภาวะซึมเศร้าด้วยเหตุของโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด และวันนี้โรคจิตเภทแบบหวาดระแวงได้เกิดขึ้นแล้วกับคนที่ติดโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะแอปคลิปสั้น ที่แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆกับคนทั่วไปที่ไม่มีภาวะโรคจิตแฝง แต่การใช้มาก ‘เกินพอดี’ ย่อมไม่เกิดผลดีแน่นอน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์