top of page

นวัตกรรมการผ่าตัดรักษาโรค “นิ่วต่อมทอนซิล”

นิ่วทอนซิล เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป มีการศึกษาวิจัยในประเทศฝรั่งเศสระบุว่าภาวะนี้พบได้ประมาณ 6 % ของกลุ่มประชากร นิ่วทอนซิล คือ Biofilm ที่มีชีวิต (Living biofilm) เกิดจากการหมักหมมของสิ่งสกปรกต่างๆ เช่น เศษอาหาร น้ำลาย และเนื้อเยื่อที่ตายแล้วของต่อมทอนซิล อยู่ในร่องทอนซิล (Tonsillar crypts) โดยมีแบคทีเรียหลายชนิดที่อยู่รวมกันเป็นสังคม ทำหน้าที่เกื้อกูลกัน เกิดเป็นก้อนสีขาวๆ เรียกว่า Tonsil stone (Tonsillolith, Tonsil debris , Tonsil concretion) นิ่วทอนซิลจะมีกลิ่นเหม็นของก๊าซไข่เน่า (H2S) ที่เกิดจากการ ferment ของเชื้อแบคทีเรีย Actinomycetes spp.

นิ่วทอนซิลเกิดขึ้นในร่องของต่อมทอนซิล เป็นการติดเชื้ออักเสบในร่องต่อมทอนซิล (Tonsillar crypts infection) จัดเป็นโรคเรื้อรังของต่อมทอนซิลแบบหนึ่งที่เรียกว่า Chronic cryptic tonsillitis ซึ่งในทางการแพทย์โรคนี้ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม "other chronic diseases of tonsils and adenoids" Diagnosis code J35.8 (2022 ICD-10-CM Diagnosis code J35.8) นิ่วทอนซิลไม่สามารถรักษาให้หายด้วยยาปฏิชีวนะ เพราะ biofilm ดื้อยาประมาณ 100-1000 เท่า

ต่อมทอนซิลมีหน้าที่ดักจับและทำลายเชื้อโรคที่เข้าสู่ลำคอและทางเดินหายใจ ทอนซิลทำหน้าที่ตลอดชีวิต แต่หน้าที่นี้จะสำคัญมากในวัยเด็กและหนุ่มสาว และทำหน้าที่น้อยลงเมื่ออายุมากขึ้นในวัยชรา ปัจจุบันการผ่าตัดทอนซิลออกไปแบบดั้งเดิม (Traditional tonsillectomy) มีการทำลดลงมากในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น อเมริกาและยุโรป เพราะมีงานวิจัยล่าสุดรายงานว่า การผ่าตัดทอนซิลออกไปทั้งหมดอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะอาจทำให้ปอดและหลอดลมไม่แข็งแรงและป่วยบ่อยขึ้น

ปัจจุบันการรักษาผ่าตัดโรคนิ่วต่อมทอนซิลได้พัฒนาขึ้นมาก โดยไม่ต้องตัดทอนซิลออกไปทั้งหมด นั่นคือการผ่าตัดทอนซิลออกเพียงบางส่วน หรือที่เรียกว่า Partial tonsillectomy โดยมีหลายระดับดังนี้

1. Cryptolysis คือ การผ่าตัดสลายร่อง หรือเปิดร่องทอนซิลที่ติดเชื้อมีเศษหมักหมมให้สลายไป หรือทำให้รูเปิดปากร่องกว้างขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมมนิ่วทอนซิลได้อีก สามารถใช้เครื่องมือได้หลายวิธี คือ

1.1 Chemosurgery of tonsillar crypts (Chemical cryptolysis) เป็นการใช้กรด 50-80 % Trichloroacetic acid จี้ในร่องและขอบปากร่องของต่อมทอนซิลหลังจากแพทย์ได้เขี่ย หรือใช้ suction

ดูดนิ่วทอนซิลออกแล้ว หัตถการนี้สามารถทำได้ในห้องตรวจด้วยการใช้ยาชาพ่นคอ (Topical anesthesia)

1.2 LASER Cryptolysis ใช้แสง CO2 LASER ผ่าตัดสลายเนื้อเยื่อทอนซิลส่วนที่เป็นร่องลึก ที่มีนิ่วหมักหมม

อยู่ออกไป และทำให้ผิวนอกของต่อมทอนซิลเรียบขึ้น หรือร่องทอนซิลตื้นขึ้น ปากร่องทอนซิลกว้างขึ้นไม่เป็นที่หมักหมมนิ่วได้อีก หัตถการนี้สามารถทำได้ในห้องตรวจด้วยการใช้ยาชาพ่นคอ (Topical anesthesia) ร่วมกับฉีดยาชาเฉพาะที่ (Local anesthesia)

1.3 Other Tonsil cryptolysis หรือวิธีอื่นๆ สามารถทำได้ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์อีกหลายชนิด เช่น RF, Electrosurgery (ทั้ง Bipolar และ Monopolar), Coblator เป็นต้น

การผ่าตัด Tonsil cryptolysis มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำให้นิ่วทอนซิลหายขาดได้ 100 % ในคราวเดียว จากการศีกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า การทำ Tonsil cryptolysis แต่ละครั้งมีโอกาสหายจากนิ่วทอนซิลได้ประมาณ 50-80 % แล้วแต่ข้อจำกัดในคนไข้แต่ละบุคคล ความสามารถของแพทย์ และเครื่องมือที่ใช้ ดังนั้น Tonsil cryptolysis จึงมักต้องทำตั้งแต่ 2-3 ครั้งขึ้นไป ข้อดีของวิธีผ่าตัดแบบนี้ คือ ไม่ต้องดมยาสลบ ไม่เสียเลือดมาก (ไม่เกิน 1 ซีซี) และมีความปลอดภัยสูง

2. Tonsillotomy เป็นการผ่าตัดสลายร่องของต่อมทอนซิลที่หมักหมมนิ่วออกไปทั้งหมด (ร่อง crypts ของต่อมทอนซิลโดยทั่วไปมีอยู่ประมาณ 10-20 ร่อง) สามารถทำผ่าตัดได้ด้วยยาชาเฉพาะที่

3. นวัตกรรม Intracapsular tonsillectomy เป็นการผ่าตัดที่สามารถรักษานิ่วทอนซิลให้หายขาดได้ในการผ่าตัดคราวเดียว โดยเป็นการผ่าตัดเนื้อเยื่อทอนซิลออกประมาณ 90-95 % เหลือเนื้อเยื่อทอนซิลที่ดีไว้ 5-10% คลุม capsule ของต่อมทอนซิลไว้ เป็นการผ่าตัดทอนซิลแบบสงวนเนื้อเยื่อที่เหลือ Tonsil capsule และเนื้อเยื่อทอนซิล 5-10% เพื่อคงหน้าที่ของทอนซิล โดยสงวนโครงสร้างของลำคอไว้ ไม่ให้เสียโครงสร้างความแข็งแรงของช่องลำคอแบบการผ่าตัดทอนซิลทิ้งแบบดั้งเดิม การผ่าตัดวิธีนี้มีความปลอดภัยมากขึ้นกว่าการผ่าตัดทอนซิลแบบดั้งเดิมประมาณ 3 เท่า สามารถผ่าตัดโดยการดมยาสลบ เครื่องมือเลือกใช้ได้หลายชนิด เช่น เครื่องจี้ไฟฟ้า (Electrosurgery), RF, Coblator, Microdebrider หรือ CO2 LASER

การผ่าตัดด้วย CO2 LASER จะให้ความละเอียดประณีตสูงกว่าวิธีอื่นๆ แต่การใช้เครื่องมือนี้ต้องทำโดยแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องการผ่าตัดด้วย CO2 LASER



Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page