เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล แพทย์เฉพาะทาง หู คอ จมูก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Navarat Apirak ออกมาเตือนปัญหาเกี่ยวกับช่องปาก หลังพบคนไข้ดื่มน้ำน้อย โดยระบุข้อความว่า

“ใครกินน้ำน้อย ระวัง #นิ่วท่อน้ำลาย อาจมีอาการปวดเวลากินอาหาร โดยเฉพาะพวกเปรี้ยวๆ เวลาน้ำลายออก มักปวดบวมเพิ่มขึ้นได้ มักเป็นๆ หายๆ ถ้าก้อนเล็กๆ สามารถส่องกล้องคีบออกได้ค่ะ พวกนี้มีหลายปัจจัยเสี่ยงนะคะ ป.ล. ขออนุญาต ผป.แล้วค่ะ”

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลว่า “น้ำลายมีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อน (pH ประมาณ 6.5-7.0) ประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ (99.5%) น้ำลายมีหน้าที่หลัก 2 ประการ คือ ย่อยอาหารและปกป้องอันตรายที่อาจเกิดภายในปาก ในน้ำลายมีเอนไซม์แอลฟาอะไมเลส ช่วยย่อยอาหารคาร์โบไฮเดรต มีเมือกช่วยหล่อลื่นอาหารเพื่อสะดวกในการกลืนและป้องกันการระคายเคืองจากอาหาร มีไบคาร์บอเนตอิออน (HCO3-) ทำหน้าที่สะเทินสภาพกรดจากอาหารและแบคทีเรีย จึงช่วยป้องกันฟันผุ น้ำลายประกอบด้วยน้ำจำนวนมาก ทำให้ปากชุ่มชื้นเสมอ นอกจากนี้ น้ำลายช่วยในการรับรส โดยช่วยละลายสารอาหารต่าง ๆ เพื่อสามารถกระตุ้นการทำงานของเซลล์รับรส

นิ่วในต่อมน้ำลายหรือท่อน้ำลาย เกิดจากการสะสมขององค์ประกอบทางเคมีในน้ำลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแคลเซียม อาจเกี่ยวข้องกับการสร้างน้ำลายลดลงและ/หรือมีผนังท่อน้ำลายหนา แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

อย่างไรก็ตาม พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ่วน้ำลาย ได้แก่ ภาวะขาดน้ำ การใช้ยาบางชนิด (ในกลุ่มยาต้านฮีสตามีน ยาลดความดันโลหิต ยาทางจิตเวช และยาควมคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ) ตลอดจนการกระทบกระแทกหรือการบาดเจ็บของต่อมน้ำลายก็มีผลเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วน้ำลายด้วย

เมื่อมีนิ่วในต่อมน้ำลายหรือท่อน้ำลาย หรือทั้งคู่ จะเกิดท่อน้ำลายอุดตัน ทำให้น้ำลายไหลเปิดสู่ช่องปากไม่ได้ซึ่งพบนิ่วของต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกรมากที่สุดในจำนวนต่อมน้ำลายหลักทั้งสามคู่นี้ ผู้ป่วยมักจะมาปรึกษาแพทย์ด้วยอาการของท่อน้ำลายอุดตัน คือมีอาการบวมใต้คาง เป็นๆหายๆ โดยเฉพาะเวลาที่จะกินอาหาร เนื่องจากน้ำลายที่ถูกสร้างไม่สามารถไหลออกมาได้ อาจมีอาการปวดร่วมด้วยเมื่อมีการคั่งของน้ำลายมากๆ รวมทั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนเมื่อมีการติดเชื้อ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบผนังท่อน้ำลาย และกลายเป็นฝีได

นิ่วในทางเดินน้ำลาย สามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้ โดยการดื่มน้ำมากๆ รักษาความสะอาดในช่องปากและฟัน กรณีมีปัญหา ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก เมื่อพบนิ่วขนาดเล็กในท่อน้ำลายส่วนปลาย การรักษาในขั้นตอนแรก หากมีการอักเสบ ให้ใช้ยาลดการอักเสบก่อน

เมื่อการอักเสบลดลง เยื่อบุผนังท่อน้ำลายยุบบวม ท่อทางเดินน้ำลายจะกว้างขึ้นมาอยู่ในระดับปกติ และให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวเพื่อรักษาตนเอง โดยดื่มน้ำมากๆ ให้อมวิตามินซีหรือรับประทานของเปรี้ยวเพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำลาย และให้ประคบบริเวณคางที่บวมด้วยน้ำอุ่นพร้อมกับใช้มือรีดแก้มและคางจากบริเวณด้านข้างลงตามแนวแก้ม เพื่อกระตุ้นให้น้ำลายไหลสู่ช่องปากมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีนิ่วหลุดออกมาได้ แต่กรณีนิ่วไม่หลุดออกมาหรือนิ่วขนาดใหญ่ สามารถรักษาด้วยการผ่าตัด โดยคีบก้อนนิ่วออก รวมทั้งเปิดปากทางออกของท่อน้ำลายให้กว้างขึ้น หรืออาจผ่าตัดเอาต่อมน้ำลายข้างที่เป็นนิ่วออก”..

ขอบคุณภาพประกอบ : Navarat Apirak