svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เส้นเลือดในสมองโป่งพอง ระเบิดเวลาคร่าชีวิตคนปวดหัว สังเกตอาการได้อย่างไร

26 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ส่องสัญญาณ "เส้นเลือดในสมองโป่งพอง" ภัยเงียบของอาการปวดศีรษะ ระเบิดเวลาที่อาจมาพร้อมภาวะแทรกซ้อนทำเลือดออกในสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือการเสียชีวิตแบบกะทันหัน ใครเสี่ยงบ้างเช็กเลย!!

จากอาการป่วยด้วยสาเหตุเลือดออกในสมองจนต้องผ่าตัดเร่งด่วน ของเน็ตไอดอล “ออฟฟี่ แม็กซิม” หรือ อรพรรณ ด่านศิริวัฒนกุล ล่าสุดแฟนๆ ต่างเป็นห่วงและส่งกำลังใจให้อาการป่วยหายโดยเร็ว ในขณะที่หลายคนที่กำลังมีอาการปวดศีรษะ เกิดความกังวลและสงสัยถึงสาเหตุที่ทำให้ตัวเองปวดหัว

Nation Story ชวนเจาะลึกเรื่องราวสุขภาพเกี่ยวกับ “ภาวะเส้นเลือดในสมองโป่งพอง” ระเบิดเวลาคร่าชีวิตคนปวดหัว เกิดขึ้นได้อย่างไร อันตรายแค่ไหน มาดูกัน

เส้นเลือดในสมองโป่งพอง ภัยเงียบที่มากับอาการปวดศีรษะ

ภาวะเส้นเลือดในสมองโป่งพอง (Cerebral Aneurysm) หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เลือดออกในสมอง เกิดจากการเสื่อมสภาพของผนังหลอดเลือดบางส่วนทำให้เส้นเลือดโป่งพองและแตกออกจนเกิดการสะสมคั่งค้างของเลือดในสมองทำให้สมองบวม ถือเป็นภัยเงียบที่อันตรายไม่แพ้โรคเส้นเลือดสมองตีบตัน เป็นโรคที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ ที่อาจไม่มีอาการและแทบจะไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เส้นเลือดที่โป่งพองนั้นแตก หากเป็นแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน คือหลอดเลือดสมองแตกจนเลือดออกในสมอง นำไปสู่ภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือการเสียชีวิตได้อย่างกะทันหัน

เส้นเลือดในสมองโป่งพองเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ภาวะเส้นเลือดในสมองโป่งพอง เกิดจากความผิดปกติและการเสื่อมสภาพของผนังเส้นเลือดในสมองบางตำแหน่งมีลักษณะบางกว่าบริเวณอื่น เมื่อมีความดันหรือมีกระแสเลือดไหลผ่านไประยะหนึ่งจะทำให้บริเวณผนังหลอดเลือดที่บางนั้นโป่งพองขึ้นคล้ายบอลลูน และอาจแตกออกได้ในเวลาต่อมา ซึ่งจะก่อให้เกิดการเลือดออกในชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง

อาการของภาวะเส้นเลือดสมองโป่งพอง

โดยทั่วไปภาวะเส้นเลือดสมองโป่งพองจะไม่แสดงอาการแต่อย่างใด อาการแสดงก็ต่อเมื่อเส้นเลือดแตก หรือมีการโป่งพองจนไปกดทับเนื้อเยื่อสมองหรือเส้นประสาทสมอง อาการของหลอดเลือดสมองโป่งพองที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการปวดหัวอย่างรุนแรงที่สุดในชีวิตแบบไม่เคยเป็นมาก่อนและเป็นแบบทันทีทันใด ร่วมกับอาการ คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ตามัว ชัก หนังตาตก สับสน หมดสติ หน้าเบี้ยวครึ่งซีก มีอาการเหน็บชาตามร่างกายครึ่งซีก พูดไม่ได้ พูดไม่ชัด รวมถึงมีอาการกลืนลำบาก และสำลัก

โดยมีกลุ่มอาการแบ่งออกได้ดังนี้

  • กลุ่มที่มีการแตกออกของเส้นเลือดสมองโป่งพอง

ทำให้เกิดภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะโดยเฉพาะบริเวณต้นคออย่างรุนแรง และเฉียบพลัน มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยบางรายอาจหมดสติหลังจากปวดศีรษะ เมื่อฟื้นขึ้นมาจะยังคงมีอาการปวดศีรษะ และต้นคออย่างรุนแรง หากเกิดอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

  • กลุ่มที่มีเส้นเลือดสมองโป่งพองขนาดใหญ่

หากมีเส้นเลือดโป่งพองขนาดใหญ่แล้วกดทับเนื้อเยื่อสมองหรือเส้นประสาทสมอง อาการที่แสดงออกมาจะขึ้นอยู่กับบริเวณที่ถูกกดทับ เช่น หากกดทับบริเวณเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าผู้ป่วยจะมีอาการปวดร้าวบริเวณใบหน้า เป็นต้น เมื่อเกิดเส้นเลือดสมองโป่งพองขนาดใหญ่จะทำให้เลือดไหลวนอยู่ภายในจนอาจมีลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันในเส้นเลือดสมองส่วนปลายทำให้สมองขาดเลือด อาการที่แสดงออกจะเป็นไปตามบริเวณของสมองที่ขาดเลือด

 

ใครบ้างเสี่ยงภาวะเส้นเลือดในสมองโป่งพอง

สาเหตุที่ทำให้เกิดความเสื่อมสภาพของผนังหลอดเลือดนั้นส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมของหลอดเลือดจากอายุที่มากขึ้น พบได้บ่อยและเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป คนที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน คนที่สูบบุหรี่เป็นเวลานาน นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น ความผิดปกติแต่กำเนิดที่ทำให้ผนังหลอดเลือดไม่แข็งแรง โรคถุงน้ำที่ไต ภาวะเส้นเลือดแดงใหญ่ตีบ การได้รับอุบัติเหตุทางสมองที่มีการบาดเจ็บของเส้นเลือดสมอง ผู้ที่ใช้สารเสพติดบางชนิดที่มีผลให้หลอดเลือดเสื่อม

ปวดหัวแบบไหนต้องรีบไปพบแพทย์

ปวดหัวแบบไหนต้องรีบไปพบแพทย์

ปวดศีรษะแบบผิดปกติชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้ว่าทุกคนเคยปวดศีรษะ แต่เมื่อไรก็ตามที่ปวดแล้วรู้สึกว่าคราวนี้ต่างออกไป ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน โดยเฉพาะอาการปวดที่รุนแรงมากและเกิดทันทีทันใด และหรืออาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะร่วมกับแขนขาอ่อนแรง แม้ว่าผู้ป่วยจะดูอาการทุเลาลง พูดคุยได้ เดินได้ตามปกติ

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นเส้นเลือดในสมองโป่งพอง

ภาวะนี้จะรู้ตัวได้ก็ต่อเมื่อมีอาการปวดศีรษะ หรือเกิดอาการที่แสดงออกมากแล้วเท่านั้น การตรวจสุขภาพจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ตรวจพบโรคเส้นเลือดสมองโป่งพองได้ ซึ่งกลุ่มที่ตรวจพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองโดยบังเอิญ มักเป็นกลุ่มที่ไม่มีการแสดงอาการใดๆ แต่ตรวจพบโรคได้จากการตรวจสมอง เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองความเร็วสูง (CT Scan) เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัยภาวะเส้นเลือดในสมองโป่งพอง

การตรวจวินิจฉัยและการรักษาเส้นเลือดในสมองโป่งพอง

การตรวจสุขภาพจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ตรวจพบโรคเส้นเลือดสมองโป่งพองได้ โดยการตรวจอาศัยการถ่ายภาพรังสีด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scan) การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยการฉีดสารทึบรังสี (Cerebral Angiography)

ส่วนวิธีการรักษาแพทย์จะพิจารณาถึงตำแหน่ง ขนาด และรูปร่างของเส้นเลือดที่โป่งพอง รวมถึงอายุ และสุขภาพของผู้ป่วยด้วย โดยเส้นเลือดสมองโป่งพองในสมองจะมีวิธีการรักษา ดังนี้

  • การใช้คลิปหนีบที่บริเวณเส้นเลือดโป่งพอง (Microsurgical Clipping)
  • การแยงสายเข้าไปในหลอดเลือดแล้วปล่อยขดลวดเข้าไปอุดหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Coil Embolization)
  • การผ่าตัดสมอง
  • ในกรณีที่หลอดเลือดสมองโป่งพองมีขนาดเล็ก มีโอกาสในการแตกต่ำมาก จะใช้วิธีตรวจติดตามด้วยเครื่องตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสนามแม่เหล็ก (MRA) เป็นระยะๆ และเมื่อพบว่ามีขนาดใหญ่ขึ้นจึงจะทำการรักษา

การป้องกันเส้นเลือดในสมองโป่งพอง

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด หรืออาหารที่มีไขมันสูง และเน้นรับประทานผัก ผลไม้ให้มาก
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่
  • หากพบว่าตนเองมีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นเส้นเลือดสมองโป่งพอง ควรตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงทุกปี
  • ผู้ที่เป็นโรคนี้ต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก

ทั้งนี้ วิธีการป้องกันหลอดเลือดในสมองโป่งพองที่ดีที่สุด คือการตรวจสุขภาพประจำปี ควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่น งดอาหารเค็ม อาหารที่มีไขมันสูง ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ งดใช้สารเสพติดต่างๆ และรับการตรวจวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ ทั้งนี้ ภาวะเส้นเลือดในสมองโป่งพองเป็นภัยเงียบที่ไม่อาจทราบได้ล่วงหน้า หากมีอาการปวดหัวที่ผิดปกติควรรีบเข้าพบแพทย์เฉพาะทางด้านสมองและระบบประสาทเพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และทำการรักษาก่อนที่อาการจะรุนแรง และยากต่อการรักษา

 

logoline